ประวัติความเป็นมาตำบลนานกกก
- ประวัติหมู่บ้านและชุมชน
ประวัติที่ 1
“นานกกก” เป็นชื่อเรียกตามภูมิประเทศ ตำบลนานกกกเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของอำเภอ ลับแล มีการบอกเล่ากันมาว่า พื้นที่ทำนาของชาวบ้านจะมีดินแงอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าต่างๆ โดยเวลากลางคืนจะมีนกชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “นกกก”(นกเงือก) จำนวนมากลงมาหากินบริเวณนี้ จึงได้ตั้งชื้อหมู่บ้านว่า “นานกกก” หมายถึง นาที่มีนกกกนั้นเอง
ประวัติที่ ๒
พ่อเติบและแม่ติ๊บ ได้ย้ายภูมิลำเนามาจากตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล พากันมาตั้งรกรากทำนา-ทำสวนอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก ต่อมาพ่อเติบและแม่ติ๊บจึงได้ชักชวนญาติพี่น้องมาทำสวนลางสาดในพื้นที่แห่งนี้ จนมีลูกมีหลานมากมาย
อยู่มาวันหนึ่งพ่อเติบและแม่ติ๊บได้มองเห็นนกกกฝูงหนึ่งบินลงกินน้ำตรงนาเหนือบ้าน ซึ่งคนในสมัยนั้นเรียกว่า “น้ำโป่ง” จะมีลักษณะน้ำเป็นสีขาวขุ่น สัตว์ชอบมากินน้ำโป่งเป็นประจำทุกวันและรวมถึงนกกกที่ชอบ ออกมากินน้ำโป่ง พ่อเติบจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านนานกกก” ต่อมาจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงได้แยกหมู่บ้านนานกกก จากตำบลฝายหลวงมาตั้งเป็นตำบลนานกกก ในปี ๒๕๑๗ จนถึงปัจจุบัน
ประวัติที่ ๓
มีตำนานเรื่องเล่า จากหลักฐานที่ยังหลงเหลืออยู่ “ตำบลนานกกก” เคยเป็นที่ตั้งกองทัพของพระยาพิชัย ใช้เป็นป้อมปราการตั้งไว้เพื่อป้องกันข้าศึกที่จะยกทัพมาจากทางเหนือ (กบฏเงี้ยว) พระยาพิชัยได้แต่งตั้ง “พระยาคำคือ” เป็นแม่ทัพที่นายด่านเป็นผู้ดูแลด่าน บริเวณที่ตั้งของกองทัพปัจจุบันคือบริเวณนานกกกฝั่งซึ่งติดกับที่ตั้งของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนานกกกในปัจจุบัน ชาวบ้านเล่ากันว่าเป็นป้อมปราการเก่า ถ้าขุดลงไปจะพบกำแพง ปัจจุบันมีการสร้างศาลพระยาคำคือไว้บริเวณนั้น ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ตูบปู่” ว่านตูบปู่เจ้าด่านได้สร้างไว้บริเวณหลังโรงเรียนนานกกก ซึ่งเดิมเคยตั้งอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายไปไว้หลังโรงเรียนนานกกจนถึงปัจจุบัน
พระยาคำคือ และปู่เจ้าด่าน เป็นที่เคารพและสักการะของชาวบ้านตำบลนานกกก เปรียบเสมือนเป็นเจ้าที่เจ้าทาง หากมีบุคคลภายนอกหมู่บ้านเข้า – ออก จะต้องทำการบอกกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นที่พึ่งทางใจสำหรับชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านมีความรู้สึกเดือดร้อนหรือไม่สบายใจ ก็จะไปการบนบานศาลกล่าว และส่วนมากก็จะได้ผลสำเร็จอย่างที่ได้ขอไว้
- ประวัติการตั้งถิ่นฐานตำบลนานกกก
จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา สรุปได้ ๓ กลุ่มด้วยกัน ดังนี้
- กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนไปที่จังหวัดราชบุรี
- กลุ่มที่สอง เป็นผู้คนที่อพยพมาจากเวียงละคร (จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) เป็นกลุ่มที่มาตั้งถิ่นฐานในสมัยแรกๆ
- กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ย้ายต่อมาจากกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง ว่ากันว่าเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในลับแลเดิม แต่ย้ายถิ่นฐานมาทำมาหากิน ต่อมาก็มีผู้คนที่อพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น แพร่ ลำพูน เพื่อมาประกอบอาชีพทำสวน-ทำไร่ หาเลี้ยงครอบครัว
ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านนากกก มีลักษณะคล้ายคลึงกับการตั้งบ้านเรือนของ ชาวล้านนาทั่วไป คือ ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่ราบลุ่มและบริเวณหุบเขา ใกล้ๆกับแหล่งน้ำที่สำคัญๆ เช่น ห้วยบ้านเก่า ห้วยน้ำเค็ม ห้วยชายเขาบก ชาวบ้านมีความผูกพันกับแหล่งน้ำและป่าไม้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของนานกกกเป็น”น้ำจำ” (ป่าที่มีความชื้นสูง)
สมัยก่อนบ้านนานกกกมีเพียง ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านนานกกกเหนือ และนานกกกใต้ อยู่ในเขตการปกครองของตำบลฝายหลวง แต่เนื่องจากที่ตั้งของบ้านนานกกกอยู่ไกลจากบ้านของกำนันตำบลฝายหลวง ทำให้การเดินทางไปแจ้งเหตุหรือแจ้งข่าวสารระหว่างกัน เป็นไปด้วยความล่าช้า และความยากลำบากในการเดินทาง
พ.ศ.๒๕๑๗ พ่อขาแก้ว ปาแดง ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น จึงได้ปรึกษาท่านนายอำเภอ เรื่องการขอแยกการปกครองและยกฐานะเป็นตำบลใหม่ ท่านนายอำเภอได้ให้คำแนะนำว่าการตั้งเป็นตำบลตามหลักการปกครองท้องที่นั้น ๑ ตำบลต้องประกอบไปด้วย ๔ หมู่บ้าน จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกัน แล้วจึงได้รวมหมู่บ้านขุนห้วยและบ้านชายเขาบก (เดิมเป็นหมู่ที่ ๙ และหมู่ที่ ๑๐ ของตำบลฝายหลวง) นานกกกจึงได้ยกฐานะเป็นตำบลสำเร็จ มีพื้นที่การปกครอง ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านขุนห้วย บ้านชายเขาบก บ้านนานกกกเหนือ และนานกกกใต้
ต่อมา ปี พ.ศ.๒๕๓๗ ได้มีการขอตั้งหมู่บ้านใหม่ เนื่องจากมีครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น คือ หมู่ที่ ๓ บ้านหัวนา แบ่งออกเป็นหมู่บ้านที่ ๕ บ้านหัวนา ทำให้ตำบลนานกกกมีพื้นที่การปกครองทั้งสิ้น ๕ หมู่บ้าน คือ บ้านขุนห้วย บ้านชายเขาบก บ้านนานกกกเหนือ นานกกกใต้ และบ้านหัวนา จนถึงปัจจุบัน
หมู่ที่ ๑ บ้านขุนห้วย
บ้านขุนห้วย เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ.๒๔๔๕ มีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่จำนวน ๗ ครอบครัว จนประชากรเริ่มมีมากขึ้น จึงตั้งเป็นหมู่ที่ ๓ ของตำบลฝายหลวง ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๐ จึงได้แยกเป็นหมู่ที่ ๙ ตำบลฝายหลวง มีนายพร้อม รอดพล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๑๗ จึงได้แยกมาเป็นหมู่ที่ ๑ ตำบล นานกกก ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน และได้รับคัดเลือกให้เป็นกำนันด้วย คือ นายแสงเดือน ทาแท้
หมู่ที่ ๒ บ้านชายเขาบก
บ้านชายเขาบก เดิมเป็นพื้นที่ป่าเขา มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ จนกระทั่งมีผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐาน มาจากตำบลฝายหลวง ตำบลน้ำริด ตำบลบ้านด่านและตำบลแม่พูล ผู้คนได้ตัดต้นไม้ออกบางส่วน เพื่อเปลี่ยนเป็นสวนลางสาด สวนทุเรียน และสวนลองกอง เดิมอยู่พื้นที่ของหมู่ที่ ๒ และเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ ๑๐ ของตำบลฝายหลวง มีนายมา แปลงดี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก (แต่งตั้งเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๐) ต่อมามีการขยายครัวเรือนมากขึ้น จึงขยับบ้านเรือนไปปลูกสร้างตามแนวชายเขา จึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้นว่า “บ้านชายเขาบก” พ.ศ.๒๕๑๖ แบ่งเขตการปกครองไปตั้งเป็นตำบลนานกกก และเป็นหมู่ที่ ๒ ของตำบลนานกกก เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๗
หมู่ที่ ๓ บ้านนานกกกเหนือ
บ้านนานกกกเหนือ เดิมเป็นบ้านนานกกก ต่อมาได้แยกออกเป็นบ้านนานกกเหนือ ตอนที่มีการแบ่งเขตการปกครองมาจากตำบลฝายหลวง สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาล้อมรอบ มีทางเข้าออกหมู่บ้านเพียงทางเดียว มีป่าไม้เขียวขจีตลอดทั้งปี อากาศเย็นสบาย นายตอง จันทร์เพ็ง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก (มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว ๘ คน) ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายสมชาย กลเรียน
หมู่ที่ ๔ บ้านนานกกกใต้
บ้านนานกกกใต้ สันนิษฐานว่า เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนในอดีต หรืออาจจะเป็นพื้นที่ในการตั้งกองทัพสมัยพระยาคำคือ จากหลักฐานการค้นพบ ใบลาน เครื่องถ้วยชาม ไห ซึ่งทำจากเครื่องปั้นดินเผา พบบริเวณห้วยบ้านเก่าเป็นจำนวนมาก เดิมชื่อบ้านนานกกก ต่อมาได้แยกออกเป็นบ้านนานกกใต้ ตอนที่มีการแบ่งเขตการปกครองมาจากตำบลฝายหลวง สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาล้อมรอบ มีต้นสะพุงขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ มีศาลปู่เจ้าด่านเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พักพิงทางใจผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายธวัช ดีมูล
หมู่ที่ ๕ บ้านหัวนา
บ้านหัวนา เดิมเป็นพื้นที่ของหมู่ที่ ๓ บ้านนานกกกเหนือ แต่มีครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขอตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ คือ บ้านหัวนา ในปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายภูวเมศฐ์ กลเรียน
|